นักเขียนรับเชิญโดยเจเนวีฟ ดีกัซแมน ผู้เขียนร่วมในหนังสือ ‘Working in the UnOffice'.
ความเชื่อที่ 1: "Coworkingก็เป็นแค่คำสวยๆ ที่ใช้เรียก“การทำงานในพื้นที่ร่วมกัน"
ในขณะที่นั่งเครื่องบินไปซานดิเอโก้ ฉันหงุดหงิดมากระหว่างอธิบายให้หญิงชราที่นั่งข้าง ๆ ฟังเกี่ยวกับ Coworking ฉันอธิบายถึงบรรยากาศรอบ ๆ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยคนจากหลากหลายที่ มาพบปะกัน ไม่ว่าจะทำงานให้บริษัทขนาดเล็กหรือธุรกิจส่วนตัว ทุกคนจะทำงานด้วยกัน ใช้อุปกรณ์สำนักงาน อินเตอร์เน็ต ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน และก่อนจะได้เล่าถึงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกและชุมชนในการทำงานแบบนี้ หญิงชราก็แทรกขึ้นมาแบบเยาะ ๆ ว่า “ก็แค่ทำงานในพื้นที่เดียวกันดีดีนี่เอง แถมยังไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่างหาก”
จริง ๆ แล้วคำว่า Coworking นี้ก็เหมือนเรียกฆ่าตัวเอง เพราะทำให้คนฟังนึกไปถึงการทำงานในออฟฟิศสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ในบริษัทแบบเดิม ๆ แต่สิ่งที่Coworkingและการทำงานในออฟฟิศเหมือนกันก็คือ ทั้งคู่เป็นสถานที่ทำงาน มีอุปกรณ์สำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการจัดประชุม สัญญาณอินเตอร์เน็ตและพื้นที่เก็บของ นอกจากนั้นแล้ว Coworking แตกต่างจากออฟฟิศทั่วไปอย่างมาก
Coworking ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ อย่างแรกคือ องค์กรขนาดเล็กหรือผู้ทำงานอิสระมักทำงานหนักคนเดียว ไม่ว่าจะทำที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือสำนักงานรายวันซึ่งอาจทำให้รู้สึกหมดกำลังใจและหมดแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเจอแน่นอนเมื่อเป็นเจ้าของธุรกิจ
อย่างที่สองคือ การสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนทำงานอิสระ นั่นเป็นเพราะว่าการทำงานอิสระ ไม่ว่าจะทำที่บ้านหรือร้านกาแฟ สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ขาดประสิทธิภาพในการทำงานและมีสิ่งรบกวนสมาธิ การทำงานในที่เล็ก ๆ ที่ต้องกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งเป็นเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการทำงาน ลองคิดดูว่า ถ้าคุณต้องทำโปรเจ็กต์หนึ่งขึ้นมา มีทรัพยากรเพียงหยิบมือและไม่มีใครอื่นช่วยเหลือคุณได้ จะท้าทายแค่ไหน
การทำงานใน Coworking Space จะทำให้คุณต้องบอกลาความเหงา ด้วยการทำให้คุณมีโอกาสทำงานร่วมกับคนอื่นที่มาจากหลากหลายสาขาและมีความชำนาญที่ต่างกัน คุณจะพบกับการเพิ่มขึ้นของโอกาสในการพบเจอคนที่ส่งผลดีต่อธุรกิจคุณมากขึ้น ภายใน Coworking Space นี้เป็นชุมชนย่อม ๆ ที่มีกลุ่มคนหลากหลายมารวมตัวกัน หากคุณต้องการความช่วยเหลือในการเขียน press release (ข้อมูลที่แจกสำหรับทำข่าว) ก็สามารถถามสมาชิกที่ชำนาญการเขียนเชิงธุรกิจหรือขอคำแนะนำว่าบริษัทประชาสัมพันธ์ที่ไหนเก่ง ถ้ามีปัญหาเรื่องการเขียนโปรแกรม ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากโปรมแกรมเมอร์ที่อาจจะอยู่โต๊ะถัดไปจากคุณก็ได้
หัวใจหลักของ Coworking คือการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่กว้างขวางกว่าแค่เพื่อนร่วมงานและลูกค้า แต่เป็นกลุ่มคนที่เพิ่งสร้างธุรกิจของตนเองหรือมีเป้าหมายคล้าย ๆ กัน บางคนอาจมองว่านี่เป็นการแข่งขันอีกรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่บางคนเปิดใจกว้างกว่านั้นและมองว่านี่เป็นโอกาสในการสร้างคู่ค้าของตนเอง นอกจากจะช่วยให้สุขภาพจิตคุณดีขึ้นแล้ว (นึกสภาพว่าการนั่งทำงานในชุดนอนคนเดียวที่บ้านว่าน่าเบื่อขนาดไหน) ยังดีต่อธุรกิจของคุณด้วย Coworking Space ในวอชิงตัน ดีซีชื่อว่า Affinity Labได้เล่าไว้ว่ามักจะมีสมาชิกจับคู่กันเสมอ มีการเกื้อหนุน เพิ่มพูนทักษะและศักยภาพของกันและกัน บางรายก็สร้างธุรกิจใหม่ด้วยกันเลยก็มี
เจฟฟ์ เฉียว ผู้อำนวยการ The Hub Bay Area ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คุณไม่เพียงแค่ประหยัดเงินค่าเช่า แต่มียังโอกาสสร้างคู่ค้าของตนเองด้วย การเจอคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน จะช่วยเพิ่มความสร้างสรรค์มากกว่าการทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบในออฟฟิศ ร้านกาแฟหรือที่บ้านแน่ ๆ ”
การได้อยู่กับผู้คนที่มีมุมมอง ความชำนาญและภูมิหลังที่ต่างกันจะช่วยกระตุ้นไอเดียสดใหม่อยู่เสมอ ซูซาน แอคิน อดีตสมาชิกที่ Cohere ได้กล่าวไว้ว่า “ Coworking ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับผู้อื่นและเป็นแหล่งหาลูกค้า แต่ยังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย”
ความเชื่อที่ 2: “Coworking เป็นที่สำหรับผู้เริ่มกิจการ เจ้าของกิจการคนเดียวและคนทำงานอิสระเท่านั้น”
ฉันมีเพื่อนคนหนึ่งกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินผลโปรแกรมการศึกษาระดับประเทศและต้องการสถานที่ทำงานใหม่ เธอคนนี้ทำงานเกี่ยวกับสถิติและต้องวิเคราะห์คำนวณค่าสถิติจากผลสำรวจใน STATA การเขียนโปรมแกรมทางสถิติเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก บริษัทจึงให้เธอทำงานนอกออฟฟิศได้และติดต่อกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ทาง Skype และ Gmail Voice เธอชอบความยืดหยุ่นในการทำงานนอกออฟฟิศแต่ก็รู้สึกไม่เป็นหลักแหล่ง ฉันจึงแนะนำให้เธอลองไปใช้บริการ Coworking Space ดู แทนที่จะแบกคอมไปร้านกาแฟที่โน่นที่นี่
เพื่อนของเธอโต้ตอบกลับมาว่า “นึกว่าCoworking มีไว้สำหรับพวกทำงานอิสระและไอทีเท่านั้นซะอีก” พร้อมกับยักไหล่แล้วทำหน้ามุ่ยหลังดื่มกาแฟแสนแพงซึ่งเป็นถ้วยที่สองของวันจนหมด และพูดต่อว่า “ฉันทำงานให้บริษัทนะ มันจะไม่ดูประหลาดหรอ”
เธอก็พูดถูกส่วนหนึ่งที่ Coworking Space นั้นส่วนใหญ่เป็นที่คนที่เพิ่งเริ่มธุรกิจ อย่างนักเขียนโปรแกรมอิสระและนักออกแบบเว็บไซต์ แต่จากผลสำรวจทั่วโลกของ Deskmag ในครั้งแรก กลับพบว่าผู้ใช้บริการ Coworking Space เป็นผู้ที่ทำงานในวงการสื่อแบบใหม่ นักพัฒนาเว็บไซต์หรือนักเขียนโปรแกรม หากคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้ว 54% เป็นคนทำงานอิสระ และอีก 20% เป็นเจ้าของกิจการที่ว่าจ้างผู้อื่นอีกที การทำงานแบบนี้เหมาะกับบริษัทขนาดเล็กเช่นกัน ในอีกจำนวนประมาณ 20% นั้นเป็นพนักงานประจำซึ่งทำงานให้กับบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 5 คน
นอกจากนั้น ลูกจ้างจากบริษัทใหญ่ ๆ ก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบริษัทหลายแห่งสนับสนุนการทำงานนอกสถานที่เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของพนักงานและลดความจำเป็นของสำนักงานใหญ่ การสำรวจโดย Regus และ Unwired Research เมื่อปี 2011 จากผู้บริหาร 600 คนทั่วโลก พบว่าบริษัทใหญ่ ๆ มากกว่า 60% กำลังมองหาทางเลือกที่ทำงานที่แยกตัวออกไป รวมถึงสำนักงานเสมือนด้วย 59% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจบอกว่า พวกเขารู้สึกว่าการทำงานนอกสำนักงานไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อีก 79% รู้สึกว่าสมัยนี้เทคโนโลยีกว้างขวางมากจนสามารถทำงานนอกออฟฟิศอย่างมีประสิทธิภาพ และมากกว่าครึ่งเชื่อว่าพวกเขามีอุปกรณ์และความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำงานที่ใดก็ได้ Coworking Space ช่วยเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้ โดยเป็นอีกตัวเลือกพื้นที่การทำงานที่มีตารางเวลายืดหยุ่นและเหมาะสมกับการทำงานอย่างแท้จริง
ผู้ให้บริการอย่าง Satellite Telework Centers ที่เมืองแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง เพื่อช่วยมองหาสถานที่ทำงานนอกออฟฟิศ แต่ก็ยังมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานมืออาชีพ นอกจากเพื่อนร่วมงานจะมีทั้งผู้เริ่มกิจการ ผู้ทำธุรกิจเองที่บ้าน และผู้ทำงานอิสระอย่างที่ Coworking Space ส่วนใหญ่มีแล้ว Satellite Telework Centers ยังมีที่ปรึกษาบริษัทและผู้ที่ทำงานโดยใช้การสื่อสารโทรคมนาคมช่วย ซึ่งก็คือคนที่ทำงานบริษัทนั่นเอง การทำงานที่นี่จะมีบรรยากาศคล้ายการทำงานในออฟฟิศเพียงแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายมากเท่านั้นเอง
พาร์คเกอร์ วิทนีย์ ทำงานให้กับบริษัทพัฒนาวิดิโอเกมส์ FlyClops และนั่งทำงานอยู่ที่ Indy Hall เห็นด้วยว่า เทเลคอมมิวเตอร์ที่มาจากบริษัทใหญ่ๆก็สามารถประสบความสำเร็จได้ใน Coworking Space “เรามีสมาชิกคนหนึ่งที่ทำงานให้ Comcast ซึ่งต้องเข้างานเก้าโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็น แต่เขาอยากบริหารเวลา สถานที่และวิธีการทำงานเอง จึงเลือกที่นี่เพื่อทำงานนอกออฟฟิศและก็ดูมีความสุขมาก ที่สำคัญคือเขาสามารถทำงานให้บริษัทใหญ่ ๆ ขณะเดียวกันก็มีอิสระด้วย”
ความเชื่อที่ 3: "Coworking เหมาะกับเมืองใหญ่เท่านั้น"
Coworking นี้ไม่ได้มีให้เฉพาะคนเมืองใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเลือกในการทำงานที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยู่เมืองเล็ก ๆ หรือชานเมืองอีกด้วย สิ่งที่เป็นข้อด้อยของเมืองขนาดเล็กและธุรกิจระดับท้องถิ่นคือการเข้าถึงกลุ่มเจ้าของกิจการด้วยกันและการเข้าถึงทรัพยากรเป็นไปได้ยาก ซึ่งต่างกับเมืองใหญ่ ๆ การมี Coworking Space ในเมืองเล็ก ๆ สามารถตอบโจทย์ปัญหานี้ได้ และการสนับสนุนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ อาจช่วยดึงให้คนเหล่านี้ไม่ย้ายออกนอกเมืองมากเท่าที่เคยเพราะพวกเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการได้โดยมีกลุ่มคนคอยสนับสนุน
มีเพื่อนคนหนึ่งเค้าอาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทางเหนือของเมืองซาน ดิเอโก้บอกว่า “การเริ่มธุรกิจในที่ที่ไม่มีอะไรเลย มันค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นหลาย ๆ คนจึงเริ่มอยากที่จะย้ายไปชุมชมเมืองที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากกว่า”
แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่คนในเมืองใหญ่ก็พบปัญหาเดียวกับผู้ที่อยู่ชานเมือง เชส แกรนเบอร์รี่ หนึ่งในสมาชิกที่ Gangplank เล่าให้เราฟังว่ากลุ่มคนที่ทำงานไอทีมากหน้าหลายตามารวมตัวกันที่ Gangplank ได้อย่างไร “ไม่ค่อยมีคนที่ทำงานด้านไอทีทำงานร่วมกันมากเท่าไหร่ เพราะคนมักอยู่กันกระจัดกระจายในแถบสถานีฟีนิกซ์” เขาเล่าต่อว่า “เพราะว่าไม่ค่อยมีผู้คนมากเท่าไหร่ จึงต้องยิ่งพยายามหาคนที่มีความสนใจและทำงานคล้าย ๆ กัน จน Gangplank เป็นเหมือนศูนย์กลางสำหรับทุกคนหรือศูนย์รวมชุมชน”
และเช่นเดียวกัน Coworking Space สามารถกระตุ้นชุมชนขนาดเล็กโดยนำเสนอกิจกรรมทางธุรกิจและดึงคนที่สนใจให้มาพบปะกัน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนศูนย์กลางชุมชนหรือศาลากลางในสมัยก่อน หากคุณอาศัยอยู่ในที่ที่ผู้คนอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง Coworking จะช่วยเชิญชวนดึงผู้คนให้รวมตัวกัน
เราพบว่าในเมืองเล็ก ๆ ที่อาจดูไม่เหมาะกับการทำงานแบบ Coworking แต่ Satellite Telework Centers ประสบความสำเร็จอย่างมากและยังชุบชีวิตความเป็นชุมชนของที่นั่นให้กลับมามาชีวิตชีวาอีกด้วย ผู้ก่อตั้ง จิม เกรแฮมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการรวมรวบคนให้อยู่ในศูนย์กลางเช่นนี้ส่งผลต่อกลุ่มคน/ชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ค่อนข้างมาก “ในอุตสาหกรรมนี้ พนักงานประจำหนึ่งคนจะมีพื้นที่ต่อหัว 14 ตารางฟุต ซึ่งอาจฟังดูไม่มาก แต่เราสามารถจุพนักงานเหล่านี้ได้ถึง 40-50 คน (ตอนนี้มีสมาชิกมากกว่า 200 คนแล้วเพราะสมาชิกส่วนมากใช้บริการแบบนอกเวลา)” จิมเล่า ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานพัฒนาเมืองและเจ้าหน้าที่เมืองที่ตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอันมาก
ความเชื่อที่ 4: "Coworking นั้นเสียงดังมีสิ่งรบกวนเยอะ ทำให้ไม่มีสมาธิ"
เมื่อสมัยแรก ๆ ที่เริ่มออกตระเวนทัวร์ตาม Coworking Space หลาย ๆ ที่ เราสังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันในแต่ละที่ นั่นคือCoworking Space มักมีเสียงพูดคุยอยู่ตลอดเวลาซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ใช้บริการ หากต้องการที่เงียบ ๆ จริง ๆ ก็สามารถใช้หูฟังตัดเสียงหรือย้ายไปใช้ห้องประชุมเพื่อพูดคุยแบบส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้วการพูดคุยในบริเวณ Coworking Space นั้นเป็นสิ่งที่รับได้เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้
บ้างก็ออกความคิดเห็นว่าจุดประสงค์หลักของ Coworking คือความเปิดเผย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพลักษณ์องค์กร เจมส์ อาร์เชอร์ เคยพูดถึงเรื่องความไม่เป็นส่วนตัวที่ที่ทำงานของเขาที่ Forty Agency ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต “Gangplank อาจมีเสียงดังหรือวุ่นวายบ้างบางครั้ง แต่นั่นคือข้อดีของการทำงานลักษณะนี้ คือคุณบังเอิญได้ยินเรื่องหรือปัญหาของผู้อื่นและเสนอตัวช่วยเหลือใครคนนั้นเพราะคุณเคยเจอปัญหาแบบเดียวกันมาแล้ว”
บางครั้งการมีเสียงดังคึกโครมอาจช่วยกระตุ้นคุณได้ เกร็ก รอธ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร เล่าว่า “บางคนรู้สึกว่าเสียง (ที่ก็ไม่ได้ดังอะไรมากมาย) เพียงแต่ดังกว่าเวลานั่งทำงานในคอกกั้นที่ออฟฟิศแบบเงียบฉี่ ทำให้พวกเขาเสียสมาธิ แต่ผมชอบที่จะได้ยินมีเสียงคุยกัน เพราะมันทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ในสถานทำงานที่จริง ลงมือทำงานและงานเดินหน้าจริง ๆ ”
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย พอล เอเวอร์ เจ้าของ Bend หรือ Coworking Space ชื่อ TBD Loft เล่าว่าบางครั้งกิจกรรมที่ช่วยหล่อเลี้ยงคอมมิวนิตี้อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับกิจกรรมธุรกิจของสมาชิกคนอื่น “ผมคิดว่าปัญหาเกิดเพราะว่าเราเอาวิถีของสังคมเล็ก ๆ ไปใช้ปนกับบรรยากาศแบบธุรกิจ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและถูกออกแบบให้อยู่แยกกัน” ทาง TBD Loft ได้จัดประชุมระหว่างบรรดาสมาชิกขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหานี้
สำหรับใครที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ลองคุยกับทางพื้นที่ที่ให้บริการและขอเช่าห้องแบบส่วนตัวไปเลย Coworking Space ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะต้องการให้ลูกค้าได้รับบริการแบบที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เปิดกว้างแบบ Coworking Space หรือแบบที่เป็นสัดเป็นส่วน เหมือนออฟฟิศส่วนตัว ปีเตอร์ ฉี เจ้าของพื้นที่ทำงานแบบแชร์ชื่อ ThinkSpace เล่าให้ฟังว่า “ที่นี่ เรามีพื้นที่ Coworking ทั้งแบบเปิดกว้างและแบบออฟฟิศส่วนตัวด้วย”
คนทำงานที่มาจากธุรกิจใหญ่ ๆ ชื่นชอบความยืดหยุ่นของ Coworking “เรามักได้ยินคนพูดเสมอ ๆ ว่าที่นี่ให้ความรู้สึกเป็นทั้งชุมชนเล็กๆ แต่ก็รู้สึกเป็นส่วนตัวได้ในขณะเดียวกัน เราสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นสังคมเล็ก ๆ ที่สามารถพบปะพูดคุยกันได้ แต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัวเพียงพอสำหรับผู้ที่ต้องทำธุรกิจเช่นกัน สมาชิกชอบที่เรามีทางเลือกเผื่อไว้ให้เสมอ เมื่อจำเป็นต้องปรึกษาหารือกับทนาย ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือนักลงทุนในห้องส่วนตัวหรือบริเวณที่เปิดโล่งก็ได้เหมือนกัน”
Coworking ความเชื่อที่ 5: "ฉันทำงานในที่แบบนั้นไม่ได้หรอก ที่คงไม่พอสำหรับเครื่องอ๊อกเหล็ก"
Coworking Space บางแห่งไม่ได้เป็นเพียงสำนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นสามารถเป็น studio ผลิตงาน หรือทำงาน DIY เป็นที่รองรับของกลุ่มแฮกเกอร์ นักประดิษฐ์คิดค้น พวกสตีมพังค์ (วัฒนธรรมแบบใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในยุควิคตอเรียนและเครื่องจักรไอน้ำ) ช่างบัดกรี ช่างกลและนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะด้าน ตัวอย่างการทดลองของคนกลุ่มนี้ได้แก่ แก้ไขขดลวดเทสล่า ทำการทดลองแล็ป ใช้เครื่องปริ้นท์แบบสามมิติ ทดสอบแขนกลหุ่นยนต์และทดลองตัวต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีศิลปินซึ่งเป็นงานเฉพาะทางอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้บริการ Coworking Space นักศิลปินมักต้องการพื้นที่กว้าง ๆ ที่ไม่ใช่โต๊ะ เพื่อเชื่อมโลหะหรือเชื่อมต่อชิ้นส่วนงานประติมากรรมหรืองานแสดงศิลปะขนาดยักษ์ของพวกเขา
มี Coworking Space สำหรับงานเฉพาะทางเหล่านี้อยู่มากพอสมควร เช่น TechShop ในเมนโล พาร์ค เมืองแคลิฟอร์เนีย (และยังมีสาขาที่ราเลห์ นอร์ธแคโรไลน่า ซานฟรานซิสโกและซานโฮเซ่ แคลิฟอเนีย และเร็วๆนี้จะเปิดอีกที่เดียร์บอร์น มิชิแกน) และ Common Spaces ที่บรูคลิน นิวยอร์ก ทั้งสองที่นี้เป็นเสมือนที่ฟูมฟักแห่งแรกของเหล่าโปรเจกต์เล็ก ๆ ให้ลองสร้างตัวต้นแบบขึ้นมาและทดลองเล่นกับโปรเจกต์ของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายไม่จำเป็นว่าจะต้องทำผลกำไรได้หรือกลายเป็นธุรกิจเต็มตัวที่ทำกำไรได้มากมาย แต่พื้นที่เหล่านี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักประดิษฐ์คิดค้นเหล่านี้มาทำงานร่วมกัน เพราะเครื่องมือและเครื่องจักรส่วนใหญ่มีราคาสูง และทำหน้าที่พิเศษเฉพาะทาง คงสิ้นเปลืองไม่น้อยถ้าคุณต้องซื้อเครื่องมือเหล่านี้มาใช้สำหรับโปรเจ็กต์เล็ก ๆ หรือใช้คนเดียว เพราะฉะนั้นการรวมเอานักประดิษฐ์เหล่านี้มาทำงานด้วยกันในพื้นที่ที่เดียวกัน ทำให้เครื่องจักรและเครื่องมือต่าง ๆ ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
ฟิล ฮิวจ์ เป็นผู้พัฒนาศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับระบบปรับอากาศและความเย็นที่ Clustered Systems และทำงานอยู่ที่ TechShop เขาเล่าว่าการที่ Coworking Space มีอุปกรณ์เครื่องมือครบครันช่วยลดต้นทุนและพัฒนาบริษัทได้อย่างมาก “ตอนที่เราเริ่มนั้น ไม่มีใครมีประสบการณ์งานแบบนี้เลยว่าต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มจากลองเอาโน้นนี่มาประกอบกันแล้วลองดูว่าจะออกมาแบบไหน ซึ่ง TechShop ช่วยได้มากในขั้นตอนนี้เพราะมีอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นทุกอย่าง เราสามารถสร้างตัวต้นแบบ ทดสอบแล้วรอดูผลได้เลยทันที นอกจากนี้เราก็ยังมีเครื่องมือเพื่อปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวต้นแบบได้ทันท่วงทีด้วย”
การทำงานแบบนี้ยังช่วยได้มากในการเข้าสังคม เพราะแทนที่จะทำงานกับช่างเครื่องไม่กี่คนในโรงรถ การทำงานใน Coworking Space นี้ทำให้คุณได้พบปะคนประเภทเดียวกันและอยู่ในแวดวงเดียวกัน “คำขวัญของเราคือ สร้างฝันชองคุณให้เป็นจริง ไม่ใช่แค่เพียงชิ้นงาน” มาร์ค แฮทช์ ซีอีโอของ TechShop กล่าว “คนที่มาใช้บริการโดยมาก ไม่เคยเจอที่ที่มีอุปกรณ์ และวัตถุดิบพร้อมแบบนี้ และยังมีชุมชนของตัวเองแบบที่ TechShop มี ผู้มาใช้บริการจะยิ่งได้รับแรงบันดาลใจและคิดต่อยอดความฝันของตนได้อีก”
:::::
เจนนิเฟอร์ ดีกัซแมน ผู้เขียนร่วมของหนังสือ “Working in the UnOffice: A Guide to Coworking for Indie Workers, Small Businesses, and Nonprofits’ (Night Owls Press, August 2011) สามารถอ่านตัวอย่างหนังสือ ได้ที่เว็บ www.CoworkingGuide.com โปรเจกต์ถัดไปของเธอคือสำรวจ Coworking Spaceในภูมิภาคอื่น ๆ ติดต่อเธอได้ที่ทวิตเตอร์ @nightowlspress หรือ